วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรื่องราวของเฉลียง


เฉลียง เป็นชื่อของวงดนตรีไทย ที่มีผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2534 ทั้งหมด 6 ชุด เฉลียงเป็นวงดนตรีวงแรก ๆ ที่บุกเบิกเพลงแนวแปลกใหม่ ทั้งด้านเนื้อหาและท่วงทำนอง ให้กับวงการเพลงไทย ผู้ก่อตั้งและผู้แต่งเพลงส่วนใหญ่ของเฉลียงคือ ประภาส ชลศรานนท์

ภายหลังจากออกผลงานชุดสุดท้ายในปี พ.ศ. 2534 เฉลียงยังคงมีการรวมตัวกันเล่นคอนเสิร์ตและออกผลงานเพลงเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว

ที่มาของชื่อวงเฉลียง
ประภาส ชลศรานนท์ มีความต้องการชื่อที่สื่อถึงมนุษย์ เป็นบ้าน เป็นจิตใจ และต้องการสื่อถึง ตรงกลาง ที่อยู่ระหว่างข้างนอกและข้างใน (จิตใจ) จึงนึกถึงชื่อเฉลียงที่เป็นส่วนที่เชื่อมต่อข้างนอกกับข้างในบ้าน ประกอบกับชื่อเฉลียงมีเสียงคล้ายกับ เฉียง ๆ ไม่ค่อยตรง เป็นการสะท้อนภาพ แต่ไม่ใช่สะท้อนภาพสังคมแต่เป็นการสะท้อนภาพจิตใจ

ยุคที่หนึ่ง

เฉลียงเกิดจากการรวมกันของกลุ่มนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ประภาส ชลศรานนท์ และวัชระ ปานเอี่ยม ทำเพลงตัวอย่าง นำไปขอให้ เรวัต พุทธินันทน์ อำนวยการผลิตให้

หลังจาก เรวัต ได้ฟังและพบว่า นิติพงษ์ ร้องเสียงเพี้ยนต่ำไม่เหมาะกับการเป็นนักร้องนำ จึงเสนอให้ สมชาย ศักดิกุล ที่ขณะนั้นเป็นนักดนตรีอาชีพอยู่มาเป็นนักร้องคู่กับ วัชระ ในผลงานชุดแรก ในปี พ.ศ. 2525 ที่แท้จริงไม่มีชื่อชุด แต่เนื่องจากหน้าปกที่ออกแบบโดย ประภาส มีรูปฝน จึงถูกเรียกว่าชุดปรากฏการณ์ฝน ตามชื่อเพลงหนึ่งในชุดนั้น หลังจากผลงานชุดแรกออกมาไม่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงตอบรับ มียอดขายไม่เกิน 4000-5000 ม้วน เฉลียงจึงไม่ได้ออกผลงานอีกเป็นระยะเวลา 4 ปี

ยุคที่สอง

ในปี พ.ศ. 2529 ประภาส มีผลงานเพลงอยู่ชุดหนึ่งที่เคยมีความคิดให้ เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ รุ่นน้องที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เคยร่วมร้องเพลงประกอบโฆษณาที่ ประภาส แต่ง ออกผลงานเป็นศิลปินเดี่ยว แต่เนื่องจากอุปสรรคด้านผู้สนับสนุน จึงทำให้โครงการไม่เกิดขึ้น จนกระทั่ง ศุ บุญเลี้ยง หนึ่งในผู้ได้เป็นเจ้าของ ปรากฏการณ์ฝน และมีความประทับใจในเพลงเที่ยวละไม จึงติดต่อกับ ประภาส เพื่อนำผลงานเพลงของตัวเองไปให้พิจารณา จึงเกิดความคิดที่จะรวมตัวเป็นศิลปินคู่ในชื่อ ไปยาลใหญ่ แต่ ประภาส ยังไม่พอใจในผลงานบางเพลง จึงเสนอให้ วัชระ กลับมารวมตัวอีกครั้ง และเนื่องจากในหลายบทเพลงมีเสียงของแซกโซโฟน จึงชักชวนให้ ภูษิต ไล้ทอง นักดนตรีเครื่องเป่าที่เคยร่วมงานกันเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตมาร่วมกันเป็นวงเฉลียงในยุคที่สอง ผลงานชุดแรกในยุคที่สองกับค่ายครีเอเทียคือ อื่น ๆ อีกมากมาย อำนวยการดนตรีโดย ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักฟังเพลงมีการออกแสดงคอนเสิร์ตและมิวสิกวีดีโอ

ต้นปี พ.ศ. 2530 เฉลียงออกผลงานเพลงชุดที่สามกับค่ายคีตาแผ่นเสียงและเทป (ต่อมาคือคีตา เรคคอร์ดสและคีตา เอนเตอร์เทนเมนท์) ในชุด เอกเขนก มีเพลง เร่ขายฝัน ที่ถูกทำเป็นมิวสิกวีดีโอยาว 9 นาที และได้รับรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D. Awards) ประจำปี 2530 นอกจากผลงานบทเพลงแล้ว ชื่อเสียงของเฉลียงทำให้ได้เล่นโฆษณาของน้ำอัดลมเป๊ปซี่ ที่เพลงประกอบโฆษณาที่ดัดแปลงจากเพลง รู้สึกสบายดี ได้รับรางวัลจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน

ปลายปี พ.ศ. 2530 เฉลียงออกผลงานเพลงชุดที่สี่คือ เฉลียงหลังบ้าน ที่ผลงานเพลงส่วนใหญ่เป็นบทเพลงประกอบละครเรื่องต่าง ๆ ที่ ประภาส เป็นผู้แต่ง และแสดงคอนเสิร์ต หัวบันไดไม่แห้ง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531

ยุคที่สาม
หลังจาก เฉลียงหลังบ้าน ศุ ที่งานส่วนตัวเริ่มรัดตัวได้ตัดสินใจของยุติบทบาทกับวง ประภาส จึงชักชวนให้ ฉัตรชัย ดุริยประณีต นักแต่งเพลงที่เคยส่งเพลงมาให้เขาพิจารณาเข้ามาเพิ่มเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งในเฉลียงยุคที่สาม ที่มีสมาชิก 4 คน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 ผลงานชุดแรกในยุคที่สามคือ แบ-กบาล มิวสิกวีดีโอที่มีชื่อเสียงของชุดนี้คือ ใจเย็นน้องชาย ที่ได้รับรางวัลชมเชยประเภทมิวสิกวีดีโอดีเด่นของคณะกรรมการโทรทัศน์ทองคำ เฉลียง มีคอนเสิร์ตปิดท้ายทอย ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2532

ผลงานชุดสุดท้ายของเฉลียงออกใน พ.ศ. 2534 คือ ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า ที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ มีบทเพลงที่ได้รับรางวัลสีสันอวอร์ดสาขาเพลงยอดเยี่ยมคือ โลกาโคม่า และ เฉลียง ยังได้รับรางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยมจากรางวัลสีสันอวอร์ดอีกด้วย เนื่องจากภาระและหน้าที่การงานส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนทำให้การทำการตลาดและการออกแสดงคอนเสิร์ตเป็นไปได้ยาก ทำให้เฉลียงยุติบทบาทลง

ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/เฉลียง_(วงดนตรี)

อ่านเรื่องราวบนแผ่นไม้แบบเต็ม ๆ ได้จาก http://www.chaliang.com

1 ความคิดเห็น: